ระบบการฉายภาพบนจอภาพยนตร์ ตอนที่ 1
เชื่อว่าหลายท่านคงไม่สังเกต เวลาเข้าไปชมภาพยนตร์ในโรง ว่าภาพที่ฉายออกมาบนจอแต่ละชุดมีความไม่เท่ากัน ตั้งแต่หนังโฆษณา หนังตัวอย่าง และหนังเรื่องซึ่งแต่ละเรื่องที่ได้ชม ภาพบนจอจะแตกต่างกัน ผมเห็น ตั้งแต่เด็กแล้วและตั้งคำถามในใจว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ เต็มจอ ทำไมหนังเรื่องนั้น ไม่เต็มจอ แถมยังเข้าใจผิดไปถึงว่า หนังไม่เต็มจอคือ 16 ม.ม. ถ้าเต็มจอคือ 35 ม.ม. ซึ่งที่จริง ไม่ใช่อยู่ที่16 หรือ 35 ม.ม. ส่วนใหญ่เป็น35 ม.ม.ทั้งหมด เพียงแต่ว่าสโคปหรือไม่สโคป เพราะจอในโรงภาพยนตร์ในยุคโน้น เขาจะติดแบบสโคปไว้เลย พอฉายหนังไม่สโคป ก็จะเหลือพื้นที่ว่างสีเทาอยู่ที่ขอบจอ โรงที่เขาทันสมัยหน่อย เขาจะมี masking คือแถบผ้าสีดำไว้เลื่อนบังส่วนที่แสงฉายไปไม่ถึงจนถึงขอบจอ เพื่อให้คนดูมีความรู้สึกว่าหนังเต็มจอ
ในฉบับนี้จะเริ่มด้วยระบบภาพบนจอภาพยนตร์ ซึ่งไม่ใช่ขนาดของภาพ แต่เป็นสัดส่วนของภาพที่ปรากฏบนจอขณะฉาย นั่นคือ”ความยาว” ต่อ “ความกว้าง” ในมุมสูง ซึ่งควรจะเรียกว่า “ความกว้าง” ต่อ “ความสูง” ของภาพบนจอมากกว่า โดยทั่วไป จะมีภาพเพียง 2 แบบ คือ WIDESCREEN และ ANAMORPHIC WIDESCREEN ซึ่งสัดส่วนภาพของ WIDESCREEN (หนังจอกว้าง) คือ 16 : 9 คือความกว้าง 16 ส่วน ต่อความสูง 9 ส่วน… ANAMORPHIC WIDESCREEN (หนังจอกว้างแบบสโคป) คือ 2.35 : 1 คือความกว้าง 2.35 ส่วน ต่อความสูง 1 ส่วน ภาพจึงดูยาวออกด้านข้าง คล้ายรูปทรงซองจดหมายราชการ วัตถุประสงค์ของการทำภาพแต่ละแบบแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหนังว่าจะเป็นประเภทไหน ดราม่า เน้นภาพใกล้ ก็จอกว้าง ถ้าแนวแอคชั่นหรือไซไฟที่ต้องการภาพในมุมกว้าง ก็จอกกว้างแบบสโคป บนจอทีวีก็เช่นกัน สมัยก่อนนี้เป็นทีวีจอสี่เหลี่ยมเกือบจตุรัส สัดส่วนภาพ 4 : 3 ถ้าเอาหนังจอกว้างในสัดส่วน 16 : 9 มาฉาย ภาพก็จะดำบนดำล่าง เพื่อรักษาสัดส่วนภาพให้เก็บภาพได้ครบ ถ้าสโคป ก็จะมองเห็นเป็นภาพเล็กๆยาวๆ อยู่กลางจอ ดังนั้นเขาจึงนำภาพมาตัดซีนให้ดูเต็มจอ แต่ภาพด้านข้างจะหายไปหมด ปัจจุบันทีวีเป็นแบบ HD จอแบน สัดส่วนภาพ 16 : 9 จึงได้ภาพสัดส่วนเดียวกับจอภาพยนตร์แบบ widescreen แต่อาจมีดำบนดำล่างบ้างเล็กน้อยสำหรับหนังสโคป
ฉบับนี้ขอปูพื้นเพียงเท่านี้ก่อน ฉบับหน้าเราจะเจาะลึกไปถึงรายละเอียดของสัดส่วนภาพ ซึ่งมีมากกว่านี้ เริ่มตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน โปรดติดตาม…