ระลึกถึง มิตร ชัยบัญชา ตอนสุดท้าย ว่าด้วยชีวิตส่วนตัว

ระลึกถึง มิตร ชัยบัญชา ตอนสุดท้าย ว่าด้วยชีวิตส่วนตัว

ใน 2 ฉบับก่อนหน้า เราได้กล่าวถึง ประวัติโดยย่อ และ งานรำลึก 50 ปี การจากไป ของ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งได้จัดขึ้นที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในฉบับนี้ถือเป็นบทส่งท้าย โดยจะกล่าวถึงชีวิตและอุปนิสัยของ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย เมื่อเราได้รู้จักเขาในฐานะพระเอกผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแล้ว ผู้เขียนจึงใคร่จะกล่าวถึงชีวิตอีกด้านหนึ่งของเขา มิตรเป็นคนมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอย่างสูง อีกทั้งเป็นผู้มีน้ำใจและรักเพื่อนฝูง โดยมักจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานตลอดจนผู้สร้างหนังอิสระอยู่เป็นนิตย์ หนังที่มิตรแสดง ออกฉายเกินครึ่งของหนังไทยที่ออกฉายในยุคนั้น ด้วยความนิยมของมหาชน เขาได้รับงานแสดงวันละหลายๆคิว จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน เมื่อมิตรมีชื่อเสียงและฐานะดี เขาก็ได้ช่วยเหลือผู้สร้างหนังอิสระที่มีทุนน้อยและให้โอกาสแก่ผู้สร้างเหล่านั้นได้เติบโตในตลาดหนังไทย จึงก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์และร่วมลงทุนด้วย โดยให้ผู้สร้างแต่ละรายผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้บริหาร มิตรได้แสดงหนังให้โดยไม่คิดค่าตัว อีกทั้งตลาดหนังไทยยุคนั้นต้องอาศัยโรงฉายซึ่งมีจำกัด แต่มีหนังที่ต้องเข้าคิวรอฉายจำนวนมาก จนผู้สร้างอิสระหลายรายต้องรอคิวนานและได้ฉายเพียงไม่กี่วัน มิตรจึงวางแผนลงทุนสร้างโรงหนังเอง เพื่อให้เปิดโอกาสให้ผู้สร้างอิสระได้นำหนังของตนออกฉาย แต่ความตั้งใจของมิตรต้องมีอันพังทลายเมื่อเขาได้เสียชีวิตลง มิตรเป็นคนที่จริงจังกับการทำงาน ผู้ร่วมงานต้องตามเขาให้ทันและทำให้ได้ตามที่สั่งโดยทันที อีกทั้งงานต้องออกมาดีโดยไม่บกพร่อง เขาเป็นคนมีระเบียบวินัยสูงและตรงต่อเวลา อาจเป็นเพราะมีจิตวิญญาณของความเป็นทหารอยู่ในตัว ด้านชิวิตรักดูจะไม่ค่อยราบรื่น ด้วยเป็นคนเจ้าอารมณ์และขี้หึง ตามคำบอกเล่าของคุณกิ่งดาว ดารณี ภรรยาคนที่สองที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ “บันทึกชิวิตรัก มิตร ชัยบัญชา” ที่พิมพ์ออกจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สามสี เมื่อปี 2543 ในปลายปี 2511 มิตร ได้ผันตัวเองสู่เส้นทางการเมือง และได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส..จังหวัดพระนคร (ชื่อเดิมของกรุงเทพมหานครในยุคนั้น) เพื่อได้มีโอกาสทำงานรับใช้ประชาชนและช่วยนักแสดงให้มีอาชีพที่มั่นคง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแฟนๆหนังของเขา กลัวมิตรจะไม่มีเวลามาแสดงหนังเมื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นนักการเมือง จึงไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ก็ได้คะแนนเสียงสูง แพ้คู่แข่งเพียง 500 คะแนน ในตอนสุดท้ายของชีวิต มิตร ได้ก้าวสู่ความเป็นนักแสดงอินเตอร์ โดยแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกงถึง 2 เรื่อง หนังที่สร้างชื่อเสียงให้มิตรมากที่สุดคือ”มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นหนัง 35 ..ฉายนานถึง 6 เดือน ทำรายได้สูงสุดในยุคนั้น สร้างกระแสให้ มิตรเพชรา แรงถึงขีดสุด ผลงานของมิตรส่วนใหญ่จะเป็นหนัง 16 ..พากย์สด แต่ก็ยังแสดงหนัง 35 ..เพียง 16 เรื่อง มิตร จึงได้ชื่อว่าเป็นโลโก้ของหนัง 16 .. หลังจากมิตรได้เสียชีวิตลงในปี 2513 หนังไทยก็ได้หมดยุค 16 .. และก้าวเข้าสู่ยุค 35 ..ตั้งแต่นั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความหล่ออย่างมีเอกลักษณ์และบุคลิกแมนเต็มตัว มิตรจึงเป็นพระเอกในใจของชาวไทยตลอดกาลโดยไม่มีวันลืมเลือน……………………..

Comments are closed.